ไทย-เยอรมนี ชูความสำเร็จ พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทย

ไทย-เยอรมนี ชูความสำเร็จ พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทย

ความร่วมมือระหว่างประเทศตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำแห่งประเทศไทย บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมนำเสนอผลสำเร็จของการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ “การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย” ในการประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการ โดยโครงการฯ ได้พัฒนาคู่มือและแนวทางด้านความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์รวม 998 คน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี โครงการฯ ได้เสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการอบรมใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) การทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์ 2) การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำอย่างปลอดภัย 3) การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งอย่างปลอดภัย และ 4) การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลในด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนด้านนโยบายความปลอดภัยจากผู้บริหาร โดยโรงพยาบาลนำร่อง 14 แห่ง จากจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 17 แห่ง ได้นำนโยบายลงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในด้านต่างๆ ในโรงพยาบาล

นอกเหนือจากการฝึกอบรม โครงการฯ ยังได้พัฒนาคู่มือและแนวทางปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานหรือแนวทางอ้างอิงเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากเข็มตำและการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการให้สารน้ำทางหลอดดำ ข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการให้ยาเคมีบำบัด และคู่มือวิธีประเมินการทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งคู่มือและแนวทางปฏิบัติเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อบรมและถ่ายทอดสู่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

เกอร์มัน มูลเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของ GIZ กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้ได้ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยมากขึ้น และจะยังส่งผลต่อการพัฒนาความปลอดภัยต่อไป
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสได้ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ของประเทศไทยในอนาคต

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า “สำหรับความยั่งยืนและการขยายผลจากความสำเร็จของโครงการนั้น สรพ. มีระบบในการรายงานอุบัติการณ์ต่างๆ เป็นระบบการรายงานและเรียนรู้อุบัติการณ์ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการรายงานเรื่องการล้างมือของบุคลากรทางการแพทย์ และการรายงานอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้สารน้ำหรือยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำด้วย โดยมีโรงพยาบาลกว่า 700 แห่งทั่วประเทศรายงานเข้าระบบนี้ และสรพ.ยังเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข (Personnel Safety) ด้านการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันพบว่าบุคลากรมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดการติดเชื้อจากการแพร่ผ่านละอองฝอย (droplet transmission) ของเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะผลักดันในความร่วมมือต่อไปในอนาคต คือ ความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 (Personnel Safety in COVID-19 situation) และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม กล่าวเสริมว่า "การทำความสะอาดมืออย่างถูกต้อง เป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่มีความสำคัญมากเพราะมืออาจสัมผัสเชื้อโรคจากผู้ป่วยรายหนึ่ง หรือที่ปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา จากนั้น เชื้อบนมือก็อาจเข้าสู่ร่างกายของบุคคลนั้นและก่อโรคได้ เช่นกรณีไข้หวัดและโควิด-19 หรืออาจจะไปถูกพาไปปนเปื้อนพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป สุดท้ายคือ อาจจะแพร่ไปยังผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และถ้าเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายได้มากขึ้น

วงการแพทย์รู้ว่าการทำความสะอาดมือ ช่วยลดการติดเชื้อ และลดอัตราตายจากการติดเชื้อมานานเกือบสองร้อยปีแล้ว แต่เรามาตระหนักเรื่องนี้ในช่วงเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกเริ่มโครงการ SAVE LIVES: Clean Your Hands ในปี ค.ศ. 2009 จนปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 เราตื่นตัวเรื่องการทำความสะอาดมือมากขึ้นเพราะเป็นเครื่องมือความปลอดภัยไม่เฉพาะกับบุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้นแต่ยังมีความสำคัญกับทุก ๆ คนในชุมชนด้วย

ในประเทศไทย ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เริ่มโครงการรณรงค์ให้บุคลากรในโรงพยาบาลทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอจนเคยชินเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยตามหลักการ 5 moments of hand hygiene ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำจนประสบความสำเร็จ สามารถเพิ่มอัตราการทำความสะอาดมือของบุคลากรในโรงพยาบาลได้อย่างดี นำไปสู่การติดเชื้อ และการระบาดของเชื้อดื้อยาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเห็นได้ชัดเจน จึงต้องการที่จะขยายขอบเขตของงานให้กว้างขวางไปถึงโรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศด้วย ด้วยความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และการสนับสนุนจากบริษัทบี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ทำให้มีกิจกรรมการฝึกอบรมบุคลากรของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในลักษณะของการบรรยาย การฝึกปฏิบัติการทำความสะอาดมือที่ถูกต้อง การสังเกตเพื่อประเมินอัตราการทำความสะอาดมือ รวมทั้งมีการจัดทำคู่มือการสังเกตการทำความสะอาดมือเป็นเอกสารคู่มือให้ผู้เข้ารับการอบรม การสร้าง Application เพื่อเก็บข้อมูลอัตราการทำความสะอาดมือของบุคลากรในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย เป็นต้น และโรงพยาบาลเหล่านั้นได้นำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมและร่วมกิจกรรมกับทางโครงการไปใช้อย่างได้ผล สามารถแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อดื้อยา และลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดี และควรจะมีกิจกรรมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพเข้ามาในระบบบริการ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยที่มีความยั่งยืนต่อไป"

ดร.ยุวดี เกตุสัมพันธ์  ประธานสมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "แนวทางปฏิบัติการให้ยาเคมีบำบัดมีความสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการพยาบาลและผู้ป่วย รวมทั้งลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ความสำเร็จของการจัดทำแนวปฏิบัติฉบับนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรในประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ และยังตอบสนองต่อนโยบายด้านความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข สมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย จะดำเนินการส่งแนวปฏิบัติไปยังโรงพยาบาลที่มีการให้ยาเคมีบำบัด รวมทั้งอนุญาตให้มีการดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของสมาคมฯ เพื่อให้มั่นใจว่าผลงานครั้งนั้จะมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าแนวปฏิบัติฉบับนี้จะเป็นแหล่งอ้างอิงในการพัฒนาระบบความปลอดภัยด้านยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลต่อไป"

ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "การให้สารน้ำทางหลอดเลือด เป็นหัตถการที่พบมากในผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล ความปลอดภัยจากหัตถการดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อความเสียหายของโรงพยาบาล โดยเฉพาะความปลอดภัยในมิติของผู้ใช้บริการที่จำเป็นต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดอย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็จำเป็นต้องได้รับความปลอดภัยจากการทำหัตถการดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ย่อมผลกระทบต่อโดยตรงต่อบุคลากรไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อหรือความเครียด  ดังนั้น การดำเนินโครงการการให้สารน้ำอย่างปลอดภัยภายใต้โครงการการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สนับสนุนให้ชมรมฯ ได้มีโอกาสพัฒนาแนวทางการป้องกันการบาดเจ็บจากเข็มตำและการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับนำแนวทางการป้องกันการบาดเจ็บจากเข็มตำและการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบตามมาด้วยเช่นกัน"

คุณสายัณห์ รอย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวปิดท้ายว่า “บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องและพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการเป็น Solution Partner ในการพัฒนาคุณภาพของบริการทางการแพทย์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป จากที่บี. บราวน์ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 32 ปีแล้วในประเทศไทย ด้วยการเป็นพันธมิตรที่ดีของประเทศและพร้อมที่จะเป็นทูตการแพทย์ระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศไทย เรามีความยินดีในความสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้ช่วยลดต้นทุนให้กับโรงพยาบาลพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของความปลอดภัยและสร้างการบริการด้านสุขภาพที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย นอกจากนี้แล้วบริษัท บี. บราวน์ ยังร่วมกับ GIZ และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)  สนับสนุนความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยการมอบเจลล้างมือแอลกอฮอล์จำนวน 157,500 ขวด ให้แก่โรงพยาบาล 62 แห่ง ในพื้นที่สีแดง เมื่อเดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เรื่องการล้างมือ และเผยแพร่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และสุพรรณบุรี”

Thailand and Germany announce the success on improving safety standard for healthcare personnel in Thailand

The Healthcare Accreditation Institute (Public Organization); the Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University; the Thai Oncology Nurse Society; the Infusion Nurse Network of Thailand; B.Braun (Thailand) Ltd.; and Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) GmbH joined forces to present the accomplishments of the “Improving Occupational Safety and Health of Healthcare Workers in Public Hospital in Thailand” project at the recent project conclusion meeting. Overall results show that the project has successfully produced manuals and guidelines on occupational safety for healthcare personnel and also enhanced the capacity of 998 healthcare personnel through various training courses.

Throughout the 4 years of implementation, the project has strengthened safety among healthcare personnel through 4 training areas: 1) hand hygiene of healthcare professionals; 2) safe infusion therapy; 3) safety in oncology therapy; and 4) strengthening capacity building of the senior hospital management on healthcare personnel safety. All have served to enhance the knowledge of healthcare personnel and encouraged the hospitals’ senior management to support a safety policy. Fourteen of the total 17 pilot hospitals participating in the project have successfully put the policy into practice through the implementation of projects and measures to promote safety in various fields in the hospital.

Besides the training, the project also developed manuals and guidelines for personnel safety, namely, the Guidelines for Needlestick Injury Prevention, the Guidelines and Recommendations for Safety in Oncology Therapy and the Hand Hygiene Technical Reference Manual. These manuals and guidelines will be used for training healthcare personnel and distributed to hospitals across Thailand.